วันอังคารที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2553

RS ที่ไม่ใช่ค่ายเพลง

ทำความรู้จักกับ "ภูมิศาสตร์"
ภูมิศาสตร์ (geography) คือ ศาสตร์ทางด้านพื้นที่และบริเวณต่างๆ บนพื้นผิวโลก เป็นวิชาที่ศึกษาปรากการณ์ทางกายภาพ และมนุษย์ ที่เกิดขึ้น ณ บริเวณที่ทำการศึกษา รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมที่อยู่บริเวณโดยรอบ
นักภูมิศาสตร์อธิบายถึงรูปแบบของการเปลี่ยนแปลงของที่ต่างๆ บนโลก แผนที่ และสัณฐานโลก โดยอธิบายว่ารูปแบบการเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ภูมิศาสตร์จะทำให้เข้าใจปัญหาทางด้านกายภาพ และวัฒนธรรม ของบริเวณที่ศึกษา และสิ่งแวดล้อมโดยรอบที่อยู่บนพื้นผิวโลก
ภูมิศาสตร์ ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ สถานที่ และสิ่งแวดล้อมโดยการใช้ข้อมูลทางแผนที่ ในการอธิบายความสัมพันธ์ทางด้านพื้นที่ การตั้งถิ่นฐานและการอยู่อาศัยของคนแต่ละคน และโดยรวมเป็นรากฐานในการเลือกสถานที่ เพื่อสร้างสังคมมนุษย์ในดินแดนต่างๆ และมีความสัมพันธ์กับชีวิตของพืชและสัตว์ ในการเกิดดำรงชีวิต และการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศวิทยา
คนเป็นศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ที่มีกิจกรรมต่างๆ บนพื้นผิวโลก การตั้งถิ่นฐาน ตามโครงสร้างของผิวโลก และคนมีการแข่งขันกันที่จะควบคุมพื้นผิวโลก สิ่งแวดล้อมทางกายภาพที่ถูกเปลี่ยนแปลงโดยกิจกรรมของมนุษย์มีผลอย่างมากต่อ แนวทางที่เป็นลักษณะคุณค่าทางสังคมมนุษย์และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของโลก และกิจกรรมของมนุษย์จะมีอิทธิพลต่อลักษณะ และกระบวนการทางกายภาพของโลกความรู้ทางภูมิศาสตร์ทำให้ผู้คนสามารถพัฒนาความเข้าใจ ในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างคน สถานที่ และสิ่งแวดล้อม ณ เวลาหนึ่ง
โครงสร้างที่สำคัญของวิชาภูมิศาสตร์ ประกอบด้วย
  1. ภูมิศาสตร์ระบบ (Systematic Geography) ประกอบด้วยเนื้อหาสาระทางด้านสภาพแวดล้อมหรือกายภาพส่วนหนึ่ง และบทบาทของมนุษย์ในการดัดแปลงปรับปรุงสภาพแวดล้อมอีกส่วนหนึ่ง ทั้งสองระบบย่อยนี้ต่างมีผลกระทบต่อกันและกันและแสดงออกมาให้เห็นทางด้านพื้นที่ ในระบบกายภาพ เนื้อหาจะประกอบด้วยส่วนย่อยต่างๆ ที่รวมกันเป็นระบบสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ เช่น โครงสร้างทางธรณี ลักษณะอากาศ ดิน พืชพรรณ ตลอดจนสัตว์ต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันทั่วไปในระดับอุดมศึกษา เช่น วิชาธรณีสัณฐาน ภูมิศาสตร์เกี่ยวกับดิน อากาศวิทยา และอุทกภูมิศาสตร์ เป็นต้น ส่วนในระบบมนุษย์ ซึ่งในบางครั้งก็เรียกว่า ระบบสังคม หรือ ระบบวัฒนธรรม ก็ได้นั้น ประกอบด้วยปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และความเป็นอยู่ ตลอดจนปัจจัยต่าง ๆ ที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นมาในพื้นที่หนึ่ง และกลายเป็นองค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อมนุษย์เอง เนื้อหาสาระจึงประกอบด้วยเรื่องราวต่าง ๆ เกือบทุกอย่างที่ไม่ใชสภาพแวดล้อมธรรมชาติ เช่น ประชากร ระบบเศรษฐกิจ การอุตสาหกรรม การปกครอง และการค้า เป็นต้น
  2. ภูมิศาสตร์ภูมิภาค (Regional Geography) คือ การเข้าถึงระบบเทศสัมพันธ์ (Spatial interaction)ด้วยการแบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนๆ ในการอธิบายผิวโลกที่มีมนุษย์อาศัยนั้น นักภูมิศาสตร์ใช้วิธีการแบ่งพื้นที่ออกเป็นขนาดต่างๆ กันตามเกณฑ์และวัตถุประสงค์ เกณฑ์ในการกำหนดพื้นที่นั้นมีหลายอย่าง โดยทั่วไปต้องรวมเอาปัจจัยทางด้านกายภาพและวัฒนธรรมเข้าไว้ด้วยกัน นักภูมิศาสตร์นิยมแบ่งภูมิภาคออกตามระบบอากาศ เช่น ภูมิภาคเขตร้อนชื้น ภูมิภาคเขตอบอุ่น และภูมิภาคเขตทะเลทราย เป็นต้น หรือแบ่งภูมิภาคตามกลุ่มวัฒนธรรม เช่น กลุ่มละติน-อเมริกัน หรือกลุ่มอาหรับ เป็นต้น แต่ที่นิยมกันมากคือการแบ่งพื้นที่ศึกษาตามรูปแบบการปกครอง คือ ยึดเอาเนื้อที่ของประเทศต่างๆ เป็นเกณฑ์ เพราะสะดวกในเรื่องข้อมูลภายในพื้นที่นั้น ในปัจจุบันได้มีการแบ่งภูมิภาคออกตามบทบาทหน้าที่เด่นของพื้นที่นั้น เช่น ภูมิภาคของเมืองหรือเขตที่เมืองมีอิทธิพลต่อบริเวณรอบนอกตลดจนเขตบริการต่าง ๆ อันจัดเป็นภูมิภาคขนาดเล็กแต่ก็มีประสิทธิภาพในการจัดพื้นที่ (Hartshorne, 1959)
  3. เทคนิคต่างๆ (Techniques) เนื่องจากวิชาภูมิศาสตร์เกี่ยวกับการสำรวจและการบันทึกข้อมูลลงในแผนที่มาช้านาน หลักการทำแผนที่ตลอดจนศิลปะในการจัดรูปแบบข้อมูลต่างๆลงในแผนที่ได้กลายเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของภูมิศาสตร์ เทคนิคทางวิชาภูมิศาสตร์จึงเป็นการคำนวณสร้างโครงข่ายแผนที่ในลักษณะต่างๆ ออกมาใช้ตามวัตถุประสงค์ ในขณะเดียวกันก็รักษาคุณสมบัติของผิวโลกที่จำลองไปไว้ในแผนที่ให้ใกล้เคียงความจริงที่สุดด้วย นอกจากประดิษฐ์แผนที่ด้วยโปรเจกชันแบบต่างๆ แล้ว ยังมีการประดิษฐ์สัญลักษณ์ในรูปแบบต่าง ๆ ใช้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นกราฟ กราฟแท่งหรือไดอะแกรม เป็นต้น ในสมัยปัจจุบันได้มีการผนวกเอาเทคนิคทางด้านปริมาณวิเคราะห์เข้ามาไว้ด้วย การรู้จักใช้วิชาสถิติในลักษณะต่างๆ ประกอบกันกับคอมพิวเตอร์ ได้ช่วยปรับปรุงวิธีการทางภูมิศาสตร์ให้เป็นที่เชื่อถือได้ยิ่งขึ้น เทคนิคประการสุดท้าย คือการนำความรู้ทางด้านภาพถ่าย ภาพถ่ายทางอากาศ และโทรสัมผัสระยะไกล (Remote Sensing) มาช่วยการวิเคราะห์ และตีความหมายพื้นที่ทำได้สะดวกและรวดเร็วขึ้นซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป
  4. หลักปรัชญา (Philosophy) เนื่องจากวิชาการทุกสาขาต้องมีแนวความคิด คือ ความเชื่อในสิ่งที่กระทำ มีหลักการยึดถือปฏิบัติ ภูมิศาสตร์เองก็มีแนวความคิดของวิชาเป็นแกน ข้อคิดอันเป็นแก่นสารของวิชานี้ในแต่ละสมัยถูกรวบรวมไว้เป็นกระจกส่องให้เห็นความเป็นมา ประวัติความเป็นมาของวิชาจึงครอบคลุมเนื้อหาดังกล่าว ในขณะเดียวกันประวัติแนวความคิดหรือปรัชญาของวิชาก็ค่อย ๆ เจริญงอกงามจากการสะสมเพิ่มพูนของแนวความคิดในแต่ละสมัย ส่วนวิธีการก็ได้รับการขัดเกลาปรับปรุงจนใช้เป็นมาตรฐานในการค้นคว้าศึกษา การสร้างทฤษฎีหรือกฎเกณฑ์เกี่ยวกับกิจกรรมของมนุษย์และสภาพแวดล้อมในปัจจุบันกลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับวิชาภูมิศาสตร์ (Burge, 1966)

ตัดตอนจาก ฉัตรชัย พงศ์ประยูร, 2527, “แนวความคิดทางภูมิศาสตร์” 
ตัดตอนจาก : สมาคมภูมิศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2543, 
"รวมเว็บไซต์ข้อมูลทางภูมิศาสตร์"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น